สินค้า
ไม้ตะแบก ไม้เนื้อแข็งราคาถูกที่ยังคงถูกนำมาใช้งาน
กรมป่าไม้ได้ให้ข้อมูลว่า ตะแบกเป็นหนึ่งในไม้หวงห้ามธรรมดา ประเภท ก. โดยเฉลี่ยราคาไม้ท่อนจะอยู่ที่ 17,500 บาท/ลูกบาศก์เมตร และไม้ตะแบกแปรรูปจะมีราคาอยู่ที่ 35,000 บาท/ลูกบาศก์เมตร ด้วยความที่เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงถูกนำมาใช้งานในหลาย ๆ ด้าน ปัจจุบันยังมีการนำไม้ตะแบกมาทำเป็นเสาบ้าน ทำเรือ แพ เครื่องกสิกรรม เครื่องเรือน ด้ามมีด ด้ามปืน กรอบรูป เป็นต้น
ตะแบก เป็นไม้ผลัดใบที่มีความสูงประมาณ 15–30 เมตร สำหรับประเทศไทยพบได้ในป่าเบญจพรรณที่ค่อนข้างมีความชุ่มชื้นทางภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคตะวันออก และภาคใต้ พบมากในป่าดงดิบ ป่าน้ำท่วม และตามท้องนาทั่วไป ลำต้นมีเปลือกเรียบเป็นมันสีเทาอมขาว มีรอยแผลเป็นหลุมตื้นตลอดลำต้น เนื้อไม้มีสีเทาไปจนถึงสีน้ำตาลอมเทา เสี้ยนตรงหรือเกือบตรง เนื้อไม้มีความแข็งเหนียว ละเอียดปานกลาง เมื่อมีอายุ 3–17 ปี ตะแบกจะเริ่มมีความทนทานตามธรรมชาติ โดยไม้ตะแบกที่มีอายุ 10 ปีขึ้นไป จึงจะเหมาะกับการนำไปใช้เป็นสิ่งปลูกสร้าง
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นตะแบก
ตะแบก เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นสูงประมาณ 15–30 เมตร แตกกิ่งแขนงบนเรือนยอด มีลักษณะเป็นทรงพุ่มรูประฆัง ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามกันบนกิ่งแขนงย่อย หรืออาจออกเยื้องตรงข้ามกันเล็กน้อย ใบอ่อนมีสีม่วงแดง และมีขนสั้น ๆ ปกคลุมอยู่ เมื่อใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเขียวสด โดยจะผลัดใบในช่วงเดือนกันยายน-เมษายน และแตกใบใหม่ในเดือนธันวาคม-พฤษภาคม ส่วนดอกจะมีสีม่วงอมชมพูหรือสีขาว ออกดอกเป็นช่อ ประกอบด้วยดอกย่อยประมาณ 20–25 ดอก และผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผลสดมีเปลือกหุ้มหนาสีเขียว เมื่อแก่เปลือกจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล
ชนิดของไม้ตะแบกที่อยู่ในสกุล Lagerstroemia
• ตะแบกนา เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10–25 เมตร สามารถพบตามป่าเบญจพรรณชื้น ป่าดิบ ป่าน้ำท่วม และตามท้องนาทั่วไป โคนต้นเป็นพูพอน เปลือกนอกสีเทาอมขาว มีการแตกร่อนเป็นหลุมตื้น ๆ ส่งผลให้ผิวเปลือกด่างเป็นวงกระจายทั่วลำต้น เนื้อไม้แข็งปานกลาง มีความละเอียด ใจกลางมักเป็นโพรง สามารถใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างและทำเครื่องมือการเกษตรได้ เช่น พื้นไม้ เสาบ้าน ทำเรือ ด้ามมีด ด้ามเสียม เป็นต้น
• ตะแบกแดง เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 15–20 เมตร จัดเป็นไม้หลักของป่าเบญจพรรณชื้น ซึ่งมีกระจายขึ้นไปทั้งในป่าดงดิบแล้งถึงป่าดงดิบชื้น โดนต้นมักเป็นพูพอน เปลือกสีเทา แตกเป็นร่องแผ่นโต ๆ เปลือกในสีม่วง เนื้อไม้สีน้ำตาลถึงน้ำตาลอมเทา มีความแข็งและละเอียด สามารถใช้เป็นสิ่งปลูกสร้างและทำเครื่องมือเครื่องใช้ได้ เช่น กาน เครื่องบน ไม้ปาร์เกต์ เกวียน ด้ามเครื่องมือทางการเกษตร เป็นต้น
ข้อดีของไม้ตะแบก
• ไม้ตะแบกมีโทนสีค่อนข้างอ่อน ทำให้ง่ายต่อการย้อมและตกแต่งตามความต้องการ
• ไม้ตะแบกมีเนื้อไม้ที่มีความแข็งอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งถือว่าไม่แข็งจนเกินไป จึงทำให้ง่ายต่อการไสตกแต่ง โดยเฉพาะการนำไปใช้ปูพื้น
• ไม้ตะแบกถือเป็นไม้ที่ไม่ค่อยมีปัญหาเกี่ยวกับแมลง ปลวกและมอดมารบกวน
• เนื้อไม้ตะแบกมีความละเอียด สามารถนำมาไสและขึ้นเงาได้ง่าย อีกทั้งยังมีลวดลายที่สวยงามและชัดเจนใกล้เคียงกับไม้สักด้วย
• ไม้ตะแบกมีราคาค่อนข้างถูก เมื่อเทียบกับไม้ชนิดอื่น ๆ จึงเป็นตัวเลือกที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้
ข้อเสียของไม้ตะแบก
• สีของเนื้อไม้ตะแบกจะค่อนข้างอ่อน การจะนำไปใช้เป็นสิ่งปลูกสร้าง หรือใช้ในเชิงประดับตกแต่ง จำเป็นต้องผ่านการย้อมสีให้สวยงามก่อน
• หากเนื้อไม้ตะแบกโดนน้ำหรือความชื้น มีโอกาสที่จะเกิดการบิดงอ และโก่งตัวได้
• ไม้ตะแบกเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง ซึ่งสามารถยืดและหดตามสภาพอากาศได้
• ไม้ตะแบกเป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง แต่ก็มีขีดจำกัดในการรับน้ำหนัก จึงไม่เหมาะกับการนำไปปูพื้นที่ต้องรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ
ไม้ตะแบกเหมาะกับการนำมาใช้ทำอะไร
เนื้อไม้ตะแบกเหมาะที่จะนำไปแปรรูปเป็นไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างต่าง ๆ เช่น ไม้วงกบ ไม้ฝา แผ่นไม้ปูพื้น เป็นต้น นอกจากนี้ไม้ตะแบกยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นเฟอร์นิเจอร์และเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เตียง ตู้เก็บของ กล่องไม้ ด้ามมีด ด้ามปืน และอื่น ๆ ในส่วนของท่อนไม้ตะแบกสามารถนำไปเผาถ่านได้ โดยจะให้ก้อนถ่านที่แข็ง มีความร้อนสูง และกิ่งก้านก็ยังเป็นเชื้อเพลิงได้ดีอีกด้วย
จุดเด่นของไม้ตะแบก
ตะแบกมีเนื้อไม้ที่ละเอียด ลวดลายชัดเจน ซึ่งในอดีตนิยมใช้เป็นไม้แบบ แต่ภายหลังมักถูกนำไปใช้ในการปูพื้น เมื่อขัดและลงเงาแล้วจะมีลักษณะคล้ายกับไม้สัก แต่สีจะอ่อนและคุณภาพเป็นรองไม้สัก อย่างไรก็ตามด้วยความที่เป็นไม้เนื้อแข็งปานกลาง จึงทำให้ง่ายต่อการนำไปใช้ประโยชน์ เพราะสามารถเลื่อยไสได้ง่าย เนื้อไม้ไม่แข็งจนเกินไป
จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่าไม้ตะแบกนั้นก็ถือเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่หลายคนยังนิยมใช้กันอยู่ แต่ทว่าความทนทานนั้นอาจมีน้อยกว่าไม้เนื้อแข็งชนิดอื่น ๆ จึงสรุปได้ว่าการใช้ไม้ที่มีอายุมากและแข็งแรงทนทานนั้นสำคัญมากพอสมควร เพราะคุณสมบัติของไม้ดังกล่าวจะยิ่งช่วยยืดอายุการใช้งานได้ยาวนานมากขึ้น เช่นเดียวกับไม้เก่าที่มีดีกว่าไม้ใหม่ตรงที่ความแข็งแรงทนทาน เพราะมีอายุมากกว่า และผ่านการใช้งานมาแล้ว สำหรับใครที่สนใจสินค้าไม้เก่าคุณภาพดี TWOMENWOOD เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คุณสามารถไว้วางใจได้