สินค้า
ไม้เนื้อแข็งคืออะไร ทำไมถึงควรใช้ไม้เนื้อแข็ง
จากข้อมูลของกรมป่าไม้ได้ระบุได้ไว้ว่า ไม้เนื้อแข็งเป็นไม้ที่มีวงปีมากกว่าไม้เนื้ออ่อน เนื่องจากไม้เนื้อแข็งส่วนใหญ่จะมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่าไม้เนื้ออ่อนโดย [1] ตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการนั้นจะทำการจำแนกตามคุณสมบัติทางกล (Mechanical properties) ซึ่งโดยหลักๆ ประกอบด้วย ความต้านทานแรงดึง (Tensile strength), ความต้านทานแรงกด หรือ แรงบีบ (Compressive strength), ความต้านทานแรงเฉือน (Shear strength), และ ความต้านทานแรงดัด Flexural strength) [2] ตามเอกสารของกรมป่าไม้ พบว่า แรงดัดนั้นเป็นแรงที่เกิดขึ้นเสมอในงานก่อสร้าง และ สามารถทำให้ไม้นั้นเสียรูปโดยสิ้นเชิง จึงใช้แรงดัดสูงสุดที่ทำให้ไม้หักเป็นเกณฑ์ในการกำหนดความเข็งแรงของไม้ เรียกว่า แรงประลัยในการหัก (Modulus of rupture) ซึ่งไม้ที่จัดว่าเป็นไม้เนื้อแข็งนั้นจะต้องมีแรงประลัยในการหัก 1,000 กก/ซม2 ขึ้นไปและมีความอายุการใช้งานตามธรรมชาติเฉลี่ยสูงกว่า 10 ปี ทั้งสิ้น ยกเว้นไม้ตะเคียนทองที่มีอายุการใช้งานตามธรรมชาติเฉลี่ย 7.7 ปี นอกจากนี้ไม้เนื้อเข็งนั้นจะมีน้ำหนักค่อนข้างมาก และยังมีสี ลวดลายที่ชัดเจนขึ้นตามอายุของไม้อีกด้วย
ไม้เนื้อแข็งนั้นมีความเหนียว เหมาะกับงานตกแต่งภายนอกที่ต้องเผชิญกับแสงแดดและฝน เหนียว ทนทาน โดยส่วนใหญ่ไม้เนื้อแข็งที่ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายจนกลายเป็นที่นิยม สามารถใช้งานก่อสร้าง และใช้สอยทั่วไป เช่น คาน เสา พื้น วงกบ บันได เป็นต้น จะประกอบด้วย ไม้มะค่า ไม้ตะเคียน ไม้ตะแบก ไม้แดง ไม้เต็ง ไม้รัง เป็นต้น [2–3] ซึ่งไม้เหล่านี้จัดเป็นไม้เนื้อแข็งที่ได้รับความนิยมมาอย่างยาวนาน ทั้งนี้ลวดลาย สีสัน และคุณสมบัติอื่น ๆ ของไม้แต่ละชนิดก็จะแตกต่างกันออกไป
ชนิดของไม้เนื้อแข็งที่นิยม
• ไม้เต็ง เป็นไม้ที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี โดยเนื้อไม้จะมีแรงประลัยในการหักอยู่ที่ 1732 กก/ซม2 [2] เนื้อหยาบ และเหนียวจแต่มีความสม่ำเสมอ สำหรับสีของเนื้อไม้นั้น จะมีตั้งแต่สีน้ำตาลอ่อน ถ้าตัดทิ้งไว้นานสีจะเข้มขึ้น ไม่นิยมใช้สำหรับงานภายใน เนื่องจากผิวหยาบและลายเสี้ยนไม้ไม่ค่อยสวยงาม จัดเป็นไม้อีกหนึ่งชนิดที่มีความทนทานแต่ในส่วนของการเลื่อยไสและตกแต่งอาจทำได้ค่อนข้างยากส่วนใหญ่จะนิยมใช้ทำเป็นโครงสร้างอาคารเสาไม้ ประตู หน้าต่าง วงกบ ด้ามจับเครื่องมือกสิกรรม เหมาะสำหรับใช้งานกับภายนอกเป็นหลัก เนื่องจากทนสภาพอากาศได้ดี [1]
• ไม้รัง เป็นไม้ที่มีเนื้อค่อนข้างหยาบจนถึงละเอียดปานกลาง ลักษณะเนื้อไม้มีสีน้ำตาลอมเหลือง มีแรงประลัยในการหักอยู่ที่ 1352 กก/ซม2 [2] โดยคุณสมบัติของไม้รังจะมีลักษณะคล้ายกับไม้เต็ง แต่จะมีความแข็งแรงน้อยกว่า อย่างไรก็ตามในบางกรณีสามารถใช้ไม้รังแทนไม้เต็งได้ ซึ่งจะเหมาะกับงานก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมากเป็นพิเศษ นิยมนำไปใช้ในงานก่อสร้างหรือชิ้นส่วนต้องการรับน้ำหนักมาก อาทิ เสา พื้น คาน
• ไม้ตะเคียนทอง มีเนื้อไม้สีเหลืองหม่น หรือสีน้ำตาลอมเหลือง ลักษณะเด่นของไม้ตะเคียนทอง จะเห็นได้ว่าไม้ชนิดนี้มักจะมีเส้นสีขาวหรือสีเทาขาวผ่านเสมอ
ซึ่งเป็นท่อน้ำมันยาง เนื้อไม้มีแรงประลัยในการหักอยู่ที่ 1172 กก/ซม2 [2] อีกทั้งยังทนต่อปลวกได้เป็นอย่างดี ไม้ตะเคียนทอง เหมาะกับการนำมาเลื่อยไส และตกแต่งชักเงาอย่างมาก ซึ่งนิยมใช้ในการก่อสร้างอาคาร อีกทั้งยังสามารถใช้ในการทำวงกบ หรือ พื้นไม้ เนื่องจากมีความคงทนสูง
• ไม้ตะเคียนหิน ถือได้ว่าเป็นตะเคียนอีกหนึ่งชนิดที่มีเนื้อไม้แข็ง โดยมีแรงประลัยในการหักอยู่ที่ 1609 กก/ซม2 [2] ซึ่งนิยมนำไม้สดไปแปรรูป ถือได้ว่าเป็นไม้เนื้อแข็งที่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย อาทิเช่น ใช้ทำเครื่องเรือน เรือขุดเสา สะพาน หมอนรถไฟ สามารถนำมาแกะสลักเป็นลวดลายต่าง ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้ เป็นต้น
• ไม้ ตะเคียน ทราย เนื้อไม้มีแรงประลัยในการหักจัดเป็นไม้ตะเคียนที่มีความแน่นสูง อยู่ที่ 760 กก.ม3. [2] จึงสามารถรับน้ำหนักได้ดี โดยจะนิยมใช้ไม้ชนิดนี้ในการก่อสร้างที่ต้องรับน้ำหนักมาก นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้ทำเครื่องจักสานและเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ได้เช่นกัน
ข้อดีของไม้เนื้อแข็ง
• มีความแข็งแรงและทนทาน ไม้เนื้อแข็งส่วนใหญ่มักจะมีเนื้อค่อนข้างเหนียว แข็งแรงและทนทาน อีกทั้งยังสามารถรับน้ำหนักและแรงกระแทกได้เป็นอย่างดี [2]
•ใช้งานได้อย่างหลากหลาย ไม้เนื้อแข็งหลายชนิด นอกจากลายไม้และสีสันที่ดูสวยงาม ยังมีความแข็งแรงและทนทาน จึงตอบโจทย์การใช้งานในหลาย ๆ ด้าน อาทิเช่น ใช้ทำโครงสร้างอาคารบ้านเรือน เฟอร์นิเจอร์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ ก็สามารถทำได้เช่นกัน [3]
•ทนต่อสภาพอากาศได้เป็นอย่างดี ด้วยความเข็งแรงทนทานของไม้เนื้อแข็ง สามารถทนต่อสภาพอากาศได้ดี ไม่ว่าจะเป็นแสงแดด ลมพายุหรือฝน ด้วยคุณสมบัตินี้จึงทำให้ไม้เนื้อแข็งถูกนำไปใช้เป็นโครงสร้างอาคารบ้านเรือน รวมถึงการตกแต่งภายนอก [2]
•อายุการใช้งานยาวนาน โดยทั่วไปแล้วไม้เนื้อแข็งจะมีอายุการใช้งานสูงกว่า 10 ปี ถ้าหากเป็นไม้คุณภาพดีและมีอายุหลายสิบปีก็จะอยู่ได้นานกว่า เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจะทำให้เนื้อไม้มีความแน่นหนาและทนทานมากขึ้นตามไปด้วย [2]
ข้อเสียของไม้เนื้อแข็ง
• อาจเกิดการบิดและหดตัวของไม้ โดยเฉพาะไม้เนื้อแข็งที่มีอายุไม่มาก มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการบิดหรือหดตัวเมื่อต้องเผชิญกับความชื้นและความร้อนเป็นเวลานาน ถึงแม้ว่าไม้ชนิดนั้นจะมีความทนทานก็ตาม แต่เมื่อโดนฝนหรือความชื้นบ่อย ๆ อาจเกิดปัญหาดังกล่าวได้ ไม้ต้องมีอายุมาก ถึงสามารถนำมาใช้งานได้ [2]
• น้ำหนักมาก ด้วยความที่เป็นไม้เนื้อแข็ง มีความแน่นหนา และเหนียว จึงมีน้ำหนักมาก ซึ่งถ้าหากนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ อาจทำให้เคลื่อนที่หรือขนย้ายได้ค่อนข้างยากพอสมควร [2]
•ไม้คุณภาพดีหาได้ค่อนข้างยาก อย่างที่กล่าวไปว่าไม้เนื้อแข็งที่มีคุณภาพดีนั้นจะเป็นไม้ที่มีอายุหลายสิบปีขึ้นไป โดยส่วนใหญ่มักจะใช้ไม้ที่มีอายุไม่มาก เนื่องจากอัตราการเจริญเติบโตของไม้เนื้อแข็งนั้นค่อนข้างช้า จึงมักนำไม้ที่มีอายุไม่มากมาใช้งานแทน
• ราคาสูง หากเป็นไม้เนื้อแข็งที่หาได้ยากจะทำให้ราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากความต้องการในตลาดมีมาก ในขณะที่จำนวนสินค้ามีน้อย เช่นนี้จึงทำให้ไม้เนื้อแข็งคุณภาพดีมักมีราคาแพง ยิ่งไม้เนื้อแข็งมีอายุมากราคาก็จะสูงขึ้นเช่นกัน
ไม้เนื้อแข็ง เหมาะกับงานแบบไหนบ้าง
ตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไม้เนื้อแข็งก็ยังคงได้รับความนิยมมาอย่างต่อเนื่อง เพราะจัดเป็นไม้คุณภาพดีที่ควรค่าแก่การนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ อีกทั้งยังมีลวดลายที่สวยงามเฉพาะของแต่ละชนิด โดยส่วนใหญ่จะนิยมนำไม้ประเภทนี้ไปใช้ในการก่อสร้าง ทำเสาและโครงสร้างบ้านเรือน วัสดุตกแต่งภายในและภายนอก เฟอร์นิเจอร์ เครื่องมือการเกษตร ไม้หมอนรถไฟ รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้ประเภทต่าง ๆ
จุดเด่นของไม้เนื้อแข็งที่ได้รับความนิยมในอันดับต้นๆ
ถ้าหากกล่าวถึงไม้เนื้อแข็งที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันแล้ว เชื่อว่าหลายคนจะต้องนึกถึงไม้มะค่าเป็นอันดับต้น ๆ เนื่องจากไม้ชนิดนี้มีลวดลายที่สวยงาม ดูละเอียดและเป็นธรรมชาติ ซึ่งยากต่อการเลียนแบบ โดยเนื้อไม้จะมีสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงน้ำตาลแก่ หรือน้ำตาลอมแดง เนื้อไม้ค่อนข้างหยาบ แต่ยังมีความสม่ำเสมอ นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติที่แข็งแรง ทนต่อปลวกและมอดได้ดี นอกจากงานก่อสร้างแล้ว ไม้มะค่ามักถูกนำไปทำเป็นหมอนรถไฟ เครื่องมือกสิกรรม และเฟอร์นิเจอร์ประเภทต่าง ๆ
8 อันดับไม้เนื้อแข็งที่สุดในไทย
อันดับที่ 1 ไม้เค็ง
อันดับที่ 2 ไม้สาธร
อันดับที่ 3 ไม้ชิงชัน
อันดับที่ 4 ไม้พยุง รายละเอียดเรื่องไม้พยุง
อันดับที่ 5 ไม้มะเกลือ
อันดับที่ 6 ไม้เต็ง รายละเอียดเรื่องไม้สักเต็ง (ตรวจสอบราคา)
อันดับที่ 7 ไม้แดง รายละเอียดเรื่องไม้แดง (ตรวจสอบราคา)
อันดับที่ 8 ไม้เกด
จะเห็นได้ว่าไม้เนื้อแข็งนั้นมีข้อดีมากแค่ไหน และเพราะเหตุใดถึงได้รับความนิยม ซึ่งไม้เนื้อแข็งนั้นก็มีให้เลือกใช้งานหลากหลายชนิดด้วยกัน หากจะนำไปใช้เป็นสิ่งปลูกสร้าง หรือเฟอร์นิเจอร์ ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดก่อน เพื่อให้ได้ผลงานที่เหมาะสมและตอบโจทย์การใช้งาน หากใครที่ต้องการไม้เก่า หรือไม้เนื้อแข็งแปรรูปชนิดต่าง ๆ TWOMENWOOD ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่คุณสามารถเข้ามาดูสินค้าและสั่งซื้อได้ สำหรับท่านใดต้องการดูสินค้าด้วยตัวเอง เรามีหน้าร้านไม้เก่าอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี